
23
Jun
2025
ภูฏาน
ครั้งหนึ่งในชีวิตต้อง "พิชิตวัดทักซัง" Tiger's Nest ให้ได้
ประเทศภูฏาน ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า
ที่ซึ่งพุทธศาสนายังคงหยั่งรากลึกและธรรมชาติยังคงบริสุทธิ์อุดมสมบูรณ์ การเดินทางทัวร์ภูฏาน (Bhutan)ไปยังสถานที่อันงดงามและเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งจิตวิญญาณอย่าง "วัดทักซัง" (Taktsang Monastery) หรือรังเสือ
"Tiger’s Nest" จึงไม่ใช่เพียงแค่การเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวภูฏานธรรมดาเท่านั้น
หากแต่เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ควรค่าแก่การจดจำ
และเป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณอันลึกซึ้ง
ที่ให้เราได้สัมผัสถึงความศรัทธา ความมุ่งมั่น และความงดงามอันน่าทึ่ง
ซึ่งเราก็ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเที่ยวภูฏานของวัดศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนหน้าผาสูงชันแห่งนี้มาฝากกันค่ะ
ภูมิศาสตร์ของรังเสือในภูฏาน การเดินทางสู่ความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติและพลังแห่งศรัทธา
วัดทักซัง (Taktsang Monastery) หรือ พาโรทักซัง (Paro Taktsang)
ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของภูฏานในหุบเขาพาโร
(Paro Valley) ซึ่งเป็นหนึ่งในหุบเขาที่สวยงามที่สุดของประเทศ
จุดเด่นของวัดแห่งนี้คือเป็นวัดที่ตั้งอยู่บนหน้าผาหินแกรนิตสูงชันซึ่งอยู่บริเวณทางด้านขวาของแม่น้ำพาโร
โดยเป็นหนึ่งในถ้ำ 13 แห่งของรังเสือในประวัติศาสตร์ของทิเบต
ที่ซึ่งพระปัทมสัมภวะเคยฝึกฝนและแผยแผ่พุทธศาสนา ทัศนียภาพโดยรอบเต็มไปด้วยป่าสนเขียวขจีที่ถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกจาง
ๆ สร้างบรรยากาศที่สวยงามลึกลับและศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง
ซึ่งการตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากเช่นนี้
ก็ยิ่งเพิ่มมนต์ขลังและความน่าเกรงขามให้กับวัดทักซังได้มากยิ่งขึ้น
และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนใฝ่ฝันอยากจะมาเยือนวัดแห่งนี้กันให้ได้สักครั้งในชีวิต
พิกัด

ตำนานและประวัติศาสตร์ - ทำไมจึงเรียกว่ารังเสือในภูฏาน?
ชื่อ "รังเสือ" (Tiger's Nest) นั้นมีที่มาจากตำนานอันศักดิ์สิทธิ์ที่เล่าขานกันมานับร้อยปี
ว่ากันว่าในศตวรรษที่ 8 ท่านคุรุปัทมสัมภวะ (Guru
Padmasambhava) หรือที่ชาวภูฏานรู้จักในนามท่านคุรุรินโปเช (Guru
Rinpoche) พระลามะผู้เผยแพร่พุทธศาสนานิกายวัชรยานเข้าสู่ภูฏาน
ได้เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ด้วยการขี่เสือตัวเมียที่มีฤทธิ์เดชบินมาจากทิเบต
เพื่อปราบปีศาจและจิตวิญญาณชั่วร้าย
อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่าเสือตนนั้นเป็นร่างจำแลงของพระนาง Yeshe Tsogyal อดีตพระมเหสีของจักรพรรดิองค์หนึ่ง
ที่ได้กลายมาเป็นศิษย์ของท่านคุรุรินโปเช และได้พาท่านขึ้นหลังบินมาจากทิเบตเพื่อมายังถ้ำแห่งหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของวัดทักซังในปัจจุบัน
โดยท่านคุรุรินโปก็ได้นั่งสมาธิและปฏิบัติธรรมในถ้ำแห่งนี้เป็นเวลา 3 เดือน 3 สัปดาห์ 3 วัน 3
ชั่วโมง
เพื่อปราบปรามอสูรร้ายและเหล่าปีศาจที่ขัดขวางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
และได้ปรากฏตัวในรูปแบบภาคสมมุติทั้งแปดปาง (อวตารทั้งแปด) เมื่อท่านทำสมาธิสำเร็จ
ถ้ำแห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวภูฏานนับแต่นั้นเป็นต้นมา
และมีรอยที่ว่ากันว่าเป็นรอยประทับร่างกายของพระคุรุปัทมสัมภวะอยู่บนผนังถ้ำแห่งนี้ด้วย
ด้วยตำนานอันน่าอัศจรรย์นี้เองทำให้วัดทักซังได้รับการขนานนามว่า “รังเสือ” หรือ “Tiger’s Nest” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพลัง
ความศักดิ์สิทธิ์ และชัยชนะเหนืออุปสรรคทั้งปวง แนะนำว่าถ้าหากวางแผนไปเที่ยววัดทักซัง
ลองหาตำนานเรื่องเล่าของวัดแห่งนี้เพิ่มเติมกันดูค่ะ
เพราะช่วยเพิ่มเพิ่มอรรถรสและบรรยากาศในการเดินทางมายังวัดทักซังได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

การก่อตั้งวัดพาโรทักซัง (วัดรังเสือ)
การก่อตั้งวัดพาโรทักซัง (วัดรังเสือ)
ถึงแม้ว่าในตำนานท่านคุรุปัทมสัมภาวะจะเสด็จมายังสถานที่แห่งนี้ในศตวรรษที่
8 แต่วัดทักซังที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นในยุคนั้นค่ะ
การก่อสร้างวัดนั้นเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1692 โดยท่าน Tenzin
Rabgye ซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือ Druk Desi องค์ที่
4 ของภูฏาน
โดยเชื่อกันว่าท่านเป็นคุรุปัทมสัมภวะกลับชาติมาเกิด
การตัดสินใจสร้างวัดบนหน้าผาแห่งนี้เป็นความพยายามที่จะรำลึกถึงและรักษาตำนานอันศักดิ์สิทธิ์ของท่านคุรุรินโปเชเอาไว้
การสร้างวัดขึ้นรอบ ๆ ถ้ำแม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายทางภูมิศาสตร์เป็นอย่างมาก
แต่ด้วยความศรัทธาอันแรงกล้า วัดทักซังจึงได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอย่างช้า ๆ
โครงสร้างของวัดจะประกอบไปด้วยอาคารหลายหลังที่ยึดติดกับหน้าผาหินได้อย่างน่าอัศจรรย์
โดยมีอาคารหลักทั้งหมด 4 หลังและศาลาอีก 8 แห่ง มีทางเดินเชื่อมต่อกันระหว่างอาคาร และมีถ้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านคุรุปัทมสัมภาวะเคยนั่งสมาธิอยู่ภายใน
ทำให้เมื่อมองมาจากภายนอกนั้น วัดทักซังดูราวกับถูกแกะสลักขึ้นมาจากภูเขาอย่างประณีตละเอียดอ่อน
แสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของภูมิปัญญาของผู้คนในยุคนั้น
ความสามารถทางด้านสถาปัตยกรรม และการอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

ระดับความสูงของรังเสือในภูฏานอยู่ที่เท่าไร?
วัดทักซังตั้งอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 3,120 เมตร (10,240 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล
และตั้งอยู่บนหน้าผาที่สูงชันประมาณ 900 เมตร (2,953 ฟุต) จากพื้นหุบเขาพาโร
ซึ่งการที่วัดตั้งอยู่ในระดับความสูงที่ค่อนข้างสูงนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่นักท่องเที่ยวที่มาทัวร์ภูฏานจะต้องประเมินสภาพร่างกายของตนเองกันด้วย
โดยเฉพาะในเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศเบาบางบนพื้นที่ที่อยู่ในระดับความสูงค่อนข้างมาก
ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นก่อนการเดินทางขึ้นสู่วัดทักซังแห่งนี้ค่ะ
ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงจากอาการแพ้ความสูง (AMS) หรืออาการเจ็บป่วยจากความสูง
(Acute Mountain Sickness) ผู้ที่วางแผนจะมาพิชิตวัดทักซัง
แนะนำให้ใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 1 - 2 วันในการปรับตัวที่เมืองพาโรกันก่อน
เนื่องจากเป็นเมืองที่มีระดับความสูงใกล้เคียงกัน เพื่อให้ร่างกายได้คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมก่อนที่จะเดินทางขึ้นมายังวัดทักซัง

การขึ้นสู่วัดทักซังใช้เวลานานแค่ไหน?
การเดินทางขึ้นสู่วัดทักซังบอกได้เลยว่าต้องใช้กำลังกายและความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงเลยค่ะ
เพราะโดยเฉลี่ยแล้วการเดินทางขึ้นและลงจะใช้เวลาประมาณ 5 - 7 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความเร็วในการเดินและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
การเดินทางจากด้านล่างขึ้นไปยังวัดจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ช่วง
ดังนี้
- ช่วงแรก (ประมาณ 1.5 - 2 ชั่วโมง) จากจุดเริ่มต้นบริเวณลานจอดรถและร้านขายของที่ระลึก
ถ้าหากใครเดินไม่ไหวก็สามารถเช่าม้าตรงจุดเริ่มต้นเพื่อขึ้นไปยังคาเฟทีเรีย (Cafeteria)
ซึ่งเป็นจุดพักครึ่งทางกันได้
แต่หลังจากจุดนี้ต้องใช้การเดินเท้าเข้าไปด้วยตนเอง ไม่สามารถขี่ม้าขึ้นไปได้
- ช่วงที่สอง (ประมาณ 1 - 1.5 ชั่วโมง) จากบริเวณคาเฟทีเรีย
(Cafeteria) ซึ่งเป็นจุดที่มีทัศนียภาพที่สวยงามและเป็นจุดถ่ายภาพวัดทักซังจากระยะไกลที่ดีที่สุด
เดินไปยังทางแยกก่อนขึ้นสู่วัดทักซัง
เป็นเส้นทางที่เริ่มมีความลาดชันมากขึ้นและมีบันไดหินเป็นบางช่วง
- ช่วงที่สาม (ประมาณ 30-45 นาที)
เดินจากทางแยกไปยังตัววัดทักซัง ซึ่งช่วงนี้จะเป็นเป็นช่วงที่ชันที่สุด
ต้องข้ามสะพานเล็กผ่านน้ำตกเหนือสะพาน
ต้องขึ้นบันไดต่อไปอีกเพื่อขึ้นไปยังวัด บนเส้นทางเต็มไปด้วยธงมนต์หลากสีสัน
ซึ่งจะเรียกว่า Lung Dhar มีด้วยกัน 5 สี แต่ละสีเป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 5 ของธรรมชาติ
เมื่อขึ้นมาถึงวัดทักซัง ไกด์จะเป็นผู้พาเข้าไปในวัด โดยไม่อนุญาตให้นำกระเป๋า
กล้องถ่ายรูป และสวมรองเท้าเข้าไปในวัด
สิ่งของเหล่านี้จะต้องฝากไว้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน้าประตูวัด
การเยี่ยมชมวัดจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง
เพื่อสำรวจส่วนต่าง ๆ
ของวัดและซึมซับบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธา
และชมถ้ำเสือที่มีรอยประทับกายในตำนานของท่านคุรุรินโปเช
ส่วนการเดินทางลงวัดใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง

เส้นทางใหม่สู่วัดทักซัง
การเดินทางมายังวัดทักซังสามารถเข้าถึงได้จากหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือที่ผ่านป่า
เส้นทางที่ผู้แสวงบุญใช้จากทางทิศใต้
หรือจากทิศเหนือซึ่งจะผ่านที่ราบสูงหินที่เรียกว่า “แสนนางฟ้า”
หรือที่รู้จักกันในชื่อ บุมดา (hBum-brag) ซึ่งโดยปกติแล้วเส้นทางหลักในการขึ้นสู่วัดทักซังคือเส้นทางที่เดินขึ้นมาจากเชิงเขาที่เป็นลานจอดรถด้านล่าง
แต่เมื่อวัดทักซังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น จึงได้มีการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางที่ขึ้นมายังวัดแห่งนี้
เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและเพื่อความปลอดภัย
เส้นทางใหม่จะมีความชันที่น้อยลงกว่าทางเดิม โดยจะออกแบบให้ค่อย ๆ
ไต่ระดับความสูงอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีการติดตั้งราวจับในจุดสำคัญ
พร้อมทั้งพื้นที่พักเหนื่อย
ศาลานั่งพักและจุดให้บริการน้ำดื่มหรือน้ำชาแบบท้องถิ่น
อีกทั้งยังมีการเพิ่มจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นวัดทักษะได้อย่างงดงาม
และมีเส้นทางแยกสำหรับการเดินทางด้วยม้าและการเดินเท้า
แต่โดยรวมแล้วธรรมชาติของเส้นทางใหม่ก็ยังคงเป็นการเดินเท้าที่ท้าทาย
เพราะเสน่ห์ของการมาเยือนวัดทักซังแห่งนี้ก็ยังคงเป็นประสบการณ์ที่ต้องใช้ความพยายามทางกายภาพเป็นหลัก
ดังนั้นผู้ที่ต้องการข้อมูลเที่ยวภูฏานเกี่ยวกับเส้นทางใหม่สู่วัดทักซัง
แนะนำให้ปรึกษากับบริษัททัวร์หรือไกด์ท้องถิ่นกันก่อนค่ะ
เนื่องจากสภาพเส้นทางอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามฤดูกาลหรือการบำรุงรักษานั่นเอง

เคล็ดลับสำหรับการเที่ยวชม Tiger's Nest ในภูฏาน
การเตรียมตัวที่ดีจะทำให้ประสบการณ์การพิชิต Tiger's
Nest เป็นประสบการณ์ทัวร์ภูฏานที่ไน่าประทับใจไปอีกนาน
และนี่ก็คือเคล็ดลับสำหรับการเที่ยวชม Tiger's Nest ในภูฏานค่ะ
- ฟิตร่างกาย การเดินขึ้นและลงวัดทักซังต้องใช้พละกำลังค่อนข้างมาก
ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงก่อนการเดินทาง
โดยเฉพาะการเดินหรือวิ่งเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาและหัวใจ
- ปรับตัวกับความสูง อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการปรับตัวกับระดับความสูงเป็นสิ่งสำคัญ
ควรใช้เวลาอย่างน้อย 1 - 2 วันในเมืองพาโรหรือทิมพู
เพื่อให้ร่างกายคุ้นชินกับสภาพอากาศเบาบางที่ระดับความสูงค่อนข้างมากก่อนขึ้นวัด
- สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสม เลือกเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
แห้งเร็ว สวมใส่สบาย ควรเป็นเสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิดเพื่อเคารพต่อสถานที่ เช่น
เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมใส่รองเท้าเดินป่าหรือรองเท้าหุ้มส้นที่กระชับและยึดเกาะได้ดี
- พกน้ำดื่มและของว่าง ควรพกน้ำขวดใหญ่ติดตัวไปด้วยเพื่อป้องกันภาวะการขาดน้ำ
และเตรียมของว่างที่ให้พลังงานสูง เช่น ถั่ว ผลไม้แห้ง หรือช็อกโกแลต
- เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ควรพกหมวก แว่นกันแดด
และครีมกันแดด เตรียมเสื้อกันฝนหรือร่มขนาดเล็กติดตัวไปด้วย
นอกจากนี้ไม้เท้าเดินป่ายังสามารถช่วยลดแรงกระแทกที่หัวเข่าและช่วยพยุงตัวในระหว่างการเดินขึ้นลง
โดยเฉพาะในส่วนที่ลาดชัน
- ยาประจำตัว สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว
อย่าลืมพกยาที่จำเป็นมาด้วย
และต้องแจ้งให้ไกด์หรือเพื่อนร่วมทางทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัวที่มี
และยาที่ต้องใช้หากมีอาการ
- เดินทางแต่เช้า การเริ่มต้นเดินทางแต่เช้าจะช่วยให้มีเวลาเพียงพอในการขึ้นและลงวัด
อีกทั้งยังสามารถหลีกเลี่ยงฝูงชนและอากาศร้อนในช่วงกลางวันได้เป็นอย่างดี
- เดินทางด้วยความใจเย็น ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเดินขึ้นไป
แนะนำให้เดินไปอย่างช้าๆ หยุดพักบ่อย ๆ เพื่อดื่มน้ำและชมทัศนียภาพ และเพื่อเป็นการปรับให้ร่างกายชินต่อความสูงได้ดีขึ้น

ค่าธรรมเนียมเข้าชมวัดทักซัง
ในอดีตการเข้าชมวัดทักซังไม่มีค่าธรรมเนียมแยกต่างหาก เนื่องจากค่าเข้าชมวัดจะรวมอยู่ใน "ค่าธรรมเนียมการพัฒนาที่ยั่งยืน" (Sustainable Development Fee - SDF) ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาทัวร์ภูฏานจะต้องจ่ายกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามหลังจากมีการแก้ไขนโยบายวีซ่าของภูฏานในปี 2023 ก็ได้มีการตัดสินใจว่าจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมวัดทักซัง 1,000 Ngultrum สำหรับผู้ใหญ่ทุกคนที่เข้ามาเที่ยววัดทักซังตั้งแต่ในเดือนมีนาคมปี 2023 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมและนโยบายอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อความแม่นยำและข้อมูลที่อัปเดตที่สุด ควรสอบถามจากบริษัททัวร์ภูฏานที่ใช้บริการ หรือตรวจสอบจากเว็บไซต์ทางการของการท่องเที่ยวภูฏานก่อนการเดินทางจะเป็นการดีที่สุดค่ะ
ข้อจำกัดในการเข้าวัดทักซัง
แม้ว่าวัดทักซังจะเปิดรับนักท่องเที่ยวเกือบตลอดทั้งปี
แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการที่ควรทราบเอาไว้ก่อนเดินทางมาทัวร์ภูฏานกันที่วัดแห่งนี้ค่ะ
- ข้อจำกัดด้านการแต่งกาย การแต่งกายสุภาพเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าชมวัดทักซัง เช่นเดียวกับวัดพุทธอื่น ๆ ในภูฏาน ควรสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดหัวไหล่และเข่า เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือกระโปรงยาว และสวมรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าหุ้มส้น
- ห้ามถ่ายภาพภายในอาคาร การถ่ายภาพภายในอาคารของวัด รวมถึงห้องสวดมนต์และถ้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเคร่งครัด โดยสามารถถ่ายภาพบริเวณภายนอกอาคารและวิวทิวทัศน์รอบๆได้
- ห้ามนำกระเป๋าใบใหญ่หรือของมีค่าเข้าไปในอาคาร นักท่องเที่ยวที่มาทัวร์ภูฏานกันที่วัดทักซัง ก่อนที่จะเข้าไปภายในวัดจะต้องฝากกระเป๋า กล้องถ่ายรูป และของมีค่าอื่น ๆ ไว้ที่จุดรับฝากบริเวณด้านหน้าก่อนเข้าชมอาคารภายในวัด เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการรบกวนพิธีกรรม
- ข้อจำกัดด้านสุขภาพ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ ปัญหาเกี่ยวกับปอด หรือปัญหาข้อเข่าและหลัง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทาง และที่สำคัญคือควรประเมินความสามารถทางกายภาพของตนเองว่าไหวหรือไม่ ถ้ารู้ตัวว่าไม่ไหวก็อย่าฝืนค่ะ เนื่องจากเป็นเส้นทางค่อนข้างลาดชันและต้องใช้กำลังมาก
- การควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว ในช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวมาทัวร์ภูฏานกันที่วัดแห่งนี้ค่อนข้างมาก อาจมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าชมในแต่ละครั้ง เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและความสงบของวัด
- สภาพอากาศ ในช่วงฤดูหนาว (ธันวาคม - กุมภาพันธ์) เส้นทางอาจมีน้ำแข็งปกคลุมและเป็นอันตราย ในขณะที่ช่วงฤดูมรสุม (กรกฎาคม - สิงหาคม) อาจมีฝนตกหนักทำให้เส้นทางลื่นและทัศนวิสัยไม่ดี ไม่เหมาะสำหรับการเดินขึ้นวัด ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการพิชิตวัดทักซังคือช่วงฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม - พฤษภาคม) และฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน - พฤศจิกายน) เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศดีและทัศนียภาพสวยงาม
การเดินทางทัวร์ภูฏานเพื่อพิชิตวัดทักซัง"
Tiger's nest ไม่เป็นเพียงแค่การไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวภูฏานธรรมดา ๆ
เท่านั้น หากแต่เป็นการตามรอยเส้นทางแห่งศรัทธาด้วยความมุ่งมั่น
และการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ซึ่งการได้สัมผัสกับบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์ ที่โอบล้อมด้วยขุนเขาและเมฆหมอกบนผาสูงชัน
ผสมผสานตำนานอันน่าทึ่งและสถาปัตยกรรมที่น่าอัศจรรย์ หลังจากที่ได้ผ่านประสบการณ์การบนเส้นทางที่ท้าทาย
คือคำตอบที่ดีที่สุดว่าทำไมวัดทักซังแห่งนี้จึงเป็นจุดหมายปลายทางในการทัวร์ภูฏานที่ต้องมาเยือนให้ได้กันสักครั้งในชีวิต
และเรียกได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่หากว่าไม่ได้มา
ก็เหมือนกับมาไม่ถึงภูฏานกันเลยก็ว่าได้ค่ะ