เวลาทำการ

จันทร์-ศุกร์ :

09.00 - 18.00 น.

เราช่วยคุณได้

@taladtour

Travel License : 11/11173

หน้าแรก

/

บทความท่องเที่ยว

/

แนะนำที่เที่ยวเมืองบุมทัง (Bumthang) จุดกำเนิดพุทธศาสนาในภูฏาน เมืองนี้มีอะไรน่าเที่ยวบ้าง

แนะนำที่เที่ยวเมืองบุมทัง (Bumthang) จุดกำเนิดพุทธศาสนาในภูฏาน เมืองนี้มีอะไรน่าเที่ยวบ้าง

27

Jun

2025

ภูฏาน

แนะนำที่เที่ยวเมืองบุมทัง (Bumthang) จุดกำเนิดพุทธศาสนาในภูฏาน เมืองนี้มีอะไรน่าเที่ยวบ้าง

        พาทุกท่านมาทัวร์ภูฏาน (Bhutan)ที่เมืองบุมทัง (Bumthang) ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งภูฏาน ด้วยวิวทิวทัศน์ของเทือกเขาที่งดงามราวภาพวาด หุบเขาเขียวขจี วัดวาอารามเก่าแก่ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์และความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณ ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยธรรมชาติอันเงียบสงบชวนให้จิตใจผ่อนคลาย เมืองแห่งนี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนาในภูฏาน และได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางจิตวิญญาณที่สำคัญที่สุดของประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนจากทั่วทุกมุมโลกต่างก็อยากที่จะมาเที่ยวภูฏานกันที่เมืองนี้ เพื่อตามรอยเส้นทางของพระลามะผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต และแน่นอนว่าเราก็ได้รวบรวมข้อมูลเที่ยวภูฏานของเมืองบุมทัง (Bumthang) ทั้งในส่วนประวัติศาสตร์ของเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวแนะนำมาฝากกันค่ะ

ประวัติศาสตร์ของเมืองบุมทัง (Bumthang) ดินแดนแห่งหุบเขาศักดิ์สิทธิ์และจุดกำเนิดพุทธศาสนาในภูฏาน

            ในอดีตเมืองบุมทัง (Bumthang) ถูกเรียกว่าราชอาณาจักรบุมทัง ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายราชอาณาจักรเล็ก ๆ ภายในดินแดนของภูฏาน ก่อนที่ซับดรุง งาวัง นัมเกล (Zhabdrung Ngawang Namgyal) จะเริ่มรวมชาติครั้งแรกในปี ค.ศ. 1616 อาณาจักรบุมทังจึงได้กลายมาเป็นจังหวัดบุมทัง(Bumthang Province) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 จังหวัดของภูฏาน ต่อมาในปี ค.ศ. 1907 จังหวัดบุมทังก็ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรภูฏานในรูปแบบปัจจุบัน โดยตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ประกอบไปด้วยหุบเขาหลัก 4 แห่งได้แก่ Chokhor, Tang, Chhume และ Ura โดยหุบเขา Chokhor นั้นเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม ทำให้บุมทังมักถูกเรียกว่าเป็นทิเบตน้อยแห่งภูฏาน อันเนื่องมาจากการได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาแบบวัชรยานอย่างลึกซึ้งนั่นเอง  

            ที่มาของชื่อบุมทัง มาจากคำว่า “Bumpa” ที่หมายถึงภาชนะใส่น้ำมนต์ และคำว่า “Thang” ที่แปลว่าทุ่งราบ เมื่อรวมกันจึงหมายถึง "ทุ่งภาชนะน้ำมนต์" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในดินแดนแห่งนี้ เรื่องราวการมาเยือนของคุรุรินโปเช (Guru Rinpoche) หรือที่รู้จักกันในนาม "พระปัทมาสัมภวะ" (Padmasambhava) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 (ประมาณปี ค.ศ. 746) ถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดพุทธศาสนาในภูฏาน โดยท่านได้เดินทางมายังบุมทังตามคำเชิญของกษัตริย์สินธุราชา (Sindhu Raja) ซึ่งเป็นผู้ปกครองท้องถิ่นในสมัยนั้น ว่ากันว่ากษัตริย์ทรงป่วยหนักและถูกรังควานโดยปีศาจ ท่านคุรุรินโปเชจึงใช้พลังจิตและพิธีกรรมทางพุทธศาสนาในการปราบปีศาจเหล่านั้น และรักษาอาการประชวรของกษัตริย์ให้จนหายดี จึงทำให้กษัตริย์สินธุราชาเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ นับแต่นั้นมาพุทธศาสนาจึงได้หยั่งรากลึกในดินแดนแห่งนี้ โดยท่านคุรุรินโปเชก็ได้ก่อตั้งวัดและถ้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นหลายแห่งในบุมทัง ซึ่งต่อมาก็ได้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวภูฏานและสถานที่แสวงบุญที่สำคัญในปัจจุบัน 

สถานที่ท่องเที่ยวแนะนำในบุมทัง (Bumthang)

            ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมาเมืองบุมทังมีบทบาทที่สำคัญยิ่งประวัติศาสตร์ภูฏาน โดยเฉพาะในแง่ของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสร้างวัดวาอารามที่มีสถาปัตยกรรมอันวิจิตร การทัวร์ภูฏานที่เมืองนี้จึงมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจกันอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ  

วัดกูร์เจ (Kurjey Lankhang)

วัดกูร์เจ (Kurjey Lankhang)

           ที่นี่ถือได้ว่าเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในเมืองบุมทัง เป็นหนึ่งในสถานที่ทางศาสนาอันเก่าแก่ซึ่งมีความสำคัญที่สุดของภูฏาน และเป็นที่เคารพบูชาอย่างสูงจากชาวภูฏาน ตั้งอยู่ในหุบเขา Chokhor ของบุมทัง โดยตามตำนานเล่าว่าพระคุรุรินโปเช (Guru Rinpoche) หรือพระปัทมสัมภวะ (Padmasambhava) เคยมาประทับนั่งสมาธิที่ถ้ำภายในภูเขาหลังวัด เพื่อปราบปีศาจที่มาคุกคามเจ้าชายของเมืองบุมทังในยุคนั้น ซึ่งรอยประทับของพระองค์ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่บนผนังหินภายในวัดจนถึงปัจจุบัน 

           วัดแห่งนี้ประกอบไปด้วยวิหาร 3 หลัง วิหารหลังแรก (Guru Lhakhang) ถูกสร้างขึ้นในปีค.ศ 1652 โดย มินจูร์ เตนปา (Minjur Tenpa) ผู้ว่าการบุมทังคนแรกภายใต้การปกครองของซับดรุง งาวัง นัมเกล (Zhabdrung Ngawang Namgyal) เป็นที่ตั้งของถ้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ว่ากันว่ามีรอยประทับกายของคุรุรินโปเชอยู่  วิหารหลังที่สอง (Sampa Lhakhang) สร้างขึ้นโดยกษัตริย์อูเก็น วังชุก (Ugyen Wangchuck) ปฐมกษัตริย์แห่งภูฏานในปี ค.ศ. 1907 เป็นที่ประดิษฐานของรูปปั้นคุรุรินโปเชขนาดมหึมาและเหล่าสาวก วิหารหลังที่สามสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระราชินีอาชิ เกซัง โชเดน วังชุก (Ashi Kesang Choden Wangchuck) ในปี ค.ศ. 1984 เป็นที่ประดิษฐานของรูปปั้นขนาดใหญ่ของคุรุรินโปเช และมีการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของท่าน 

           วัดกูร์เจตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันเงียบสงบ ล้อมรอบด้วยต้นสนโบราณอายุกว่า 100 ปี ผู้คนจากทั่วประเทศรวมไปถึงนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชน มักจะเดินทางมาเยือนที่วัดแห่งนี้เพื่อสักการะรอยประทับศักดิ์สิทธิ์และขอพร นอกจากนี้ที่วัดยังเป็นสถานที่จัดเทศกาล "Kurjey Tshechu" ที่ยิ่งใหญ่ในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นเทศกาลเต้นระบำหน้ากากศักดิ์สิทธิ์ที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงชัยชนะของคุรุรินโปเชเหนือปีศาจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเทศกาลที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ ให้เดินทางมาทัวร์ภูฏานกันเลยทีเดียวค่ะ

วัดจัมปา (Jampa Lhakhang) หรือวัดพระศรีอริยเมตตรัย

การคลี่พระบฏผืนยักษ์ (Unfurling of the Thongdrol)

           อีกหนึ่งจุดหมายปลายทางในการทัวร์ภูฏาน สำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของพุทธศาสนาในเมืองบุมทัง วัดจัมปา (Jampa Lhakhang) หรือที่รู้จักกันในนาม วัดพระศรีอริยเมตตรัย ตั้งอยู่ในหุบเขา Chokhor เป็นหนึ่งในสองวัดที่เก่าแก่ที่สุดของภูฏานคู่กับวัดคิชูในเมืองพาโร และยังเป็นเครื่องหมายยืนยันการมาถึงของพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้ วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 (ประมาณปี ค.ศ. 659) โดยพระเจ้าซองเซน กัมโป (Songtsen Gampo) ผู้ปกครองทิเบต และเป็นบุคคลสำคัญในการเผยแผ่พุทธศาสนาในทิเบตรวมไปถึงภูมิภาคเทือกเขาหิมาลัย ทรงเป็นผู้สร้างวัด 108 แห่งในวันเดียวทั่วทั้งทิเบตและภูฏานโดยหนึ่งในนั้นก็คือวัดจัมปาแห่งนี้นั่นเอง ตามตำนานเล่าว่าวัดจัมปาถูกสร้างขึ้นเพื่อปราบปีศาจยักษ์ตัวเมียที่นอนพาดผ่านขวางเทือกเขาหิมาลัยเอาไว้

           ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ท่านคุรุรินโปเชได้เสด็จมาเยือนที่วัดแห่งนี้และได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ที่นี่ นั่นจึงทำให้วัดจัมปามีความศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญทางศาสนามากยิ่งขึ้น จากนั้นวัดแห่งนี้ก็ได้รับการบูรณะและปรับปรุงมาในหลายยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ได้รับการบูรณะโดยกษัตริย์จิกมี นัมเกล (Jigme Namgyal) วิหารหลักของวัดเป็นที่ประดิษฐานของรูปปั้นพระศรีอริยเมตตรัย (Maitreya Buddha) ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ทำให้เป็นที่มาของชื่อ "วัดพระศรีอริยเมตตรัย" นั่นเอง นอกจากนี้ก็ยังมีรูปปั้นพระพุทธรูปอื่น ๆ และจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่บอกเล่าเรื่องราวทางพุทธศาสนา 

           ภายในวัดมีวิหารเล็ก ๆ ที่เรียกว่า Jangkhung Lhakhang ซึ่งชาวภูฎานเชื่อกันว่าเป็นประตูสู่ยมโลก โดยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 1,000 องค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นในทุกยุคทุกสมัย บริเวณลานวัดด้านนอกมีต้นส้มเก่าแก่ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นส้มศักดิ์สิทธิ์ที่ออกดอกออกผลตลอดทั้งปี อันเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และพรที่วัดมอบให้กับผู้มาเยือน นอกจากนี้ที่วัดจัมปาเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลสำคัญประจำปี  2 เทศกาล ได้แก่ เทศกาลเต้นระบำหน้ากากศักดิ์สิทธิ์ในฤดูใบไม้ร่วง Jambay Lhakhang Drup ซึ่งจะมีการเต้นระบำไฟรอบกองไฟเพื่อชำระล้างบาป และเทศกาล Domkhar Tshechu ซึ่งเป็นเทศกาลได้ระบำหน้ากากที่จัดขึ้นเพื่อถวายแด่เทพเจ้าและท่านคุรุรินโปเช

วัดลามาย (Lamey Goenpa)

วัดลามาย (Lamey Goenpa)

          ถึงแม้ว่าวัดแห่งนี้แม้จะไม่ได้เป็นสถานที่ในการทัวร์ภูฏานอันโด่งดังมากนัก แต่ก็มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณของชาวภูฎาน วัดลาเมย์ (Lamey Goenpa) ถูกสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยลามะนัมเจล คูรุง (Lama Namgyel Kurung) ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในนิกาย Drukpa Kagyu ของทิเบต ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในด้านการศึกษาและปัญญาทางศาสนา วัดแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นอารามและศูนย์กลางทางการศึกษาสำหรับพระภิกษุสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการฝึกฝนและศึกษาหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาแบบภูฏาน และใช้เป็นที่พำนักของเจ้าขุนมูลนายท้องถิ่น

          ชื่อลาเมย์หมายถึงผู้รู้ธรรมขั้นสูงหรือพระอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งสะท้อนถึงสถานะของผู้ก่อตั้งวัดนี้ ส่วนโกนปาหรือโกเอ็มบาแปลว่าวัดหรืออารามจึงอาจแปลได้ว่าวัดของพระอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่วัดลาเมย์ถูกสร้างตามสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของภูฏาน โดยใช้โครงสร้างไม้และผนังดินอัดที่มีความแข็งแรงกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ภายในวัดประกอบด้วยวิหารหลักหลายแห่งซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูป และรูปปั้นของพระลามะองค์สำคัญ มีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวทางพุทธศาสนาและวิถีชีวิตของนักบวช แท่นบูชาที่ประดับด้วยผ้าไหม ธูปหอม และของถวายจากผู้ศรัทธา 

          บรรยากาศภายในวัดล้อมรอบด้วยป่าเขาและทุ่งหญ้าที่มีความเงียบสงบ จึงเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะสำหรับการบำเพ็ญภาวนาและปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทำให้ผู้มาเยือนสัมผัสได้ถึงความรู้สึกสงบและเป็นส่วนตัว ทำให้รู้สึกจิตใจผ่อนคลาย แม้ในปัจจุบันวัดนี้จะไม่ได้มีบทบาทใหญ่ในพิธีกรรมระดับชาติ แต่ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการทัวร์ภูฏาน และยังคงเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านและพระสงฆ์ในท้องถิ่นใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น งานสมาธิบำเพ็ญเพียร สวดมนต์ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา รวมไปถึงเป็นสถานที่จัดเทศกาล "Kurjey Tshechu" ที่ยิ่งใหญ่ทุกปี โดยเป็นเทศกาลเต้นระบำหน้ากากศักดิ์สิทธิ์ ที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงชัยชนะของคุรุรินโปเชเหนือปีศาจ 

พระราชวังวังเดือนเชลิง (Wangduechhoeling Palace)

พระราชวังวังเดือนเชลิง (Wangduechhoeling Palace)

            หนึ่งในสถานที่ทัวร์ภูฏานที่ไม่ควรพลาด พระราชวังวังดิโชลิง (Wangdichholing Palace) ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขา Chokhor ถือเป็นพระราชวังแห่งแรกที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พำนักถาวรของราชวงศ์ภูฏาน โดยเป็นพระราชวังที่ไม่มีลักษณะของป้อมปราการ (dzong) เหมือนวังในยุคก่อน สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1857 โดย เจอ เคนโป โซนัม ท็อปเก (Trongsa Penlop Sonam Topgay) ผู้ปกครองภูมิภาคตงสา (Trongsa) ในขณะนั้น และต่อมาได้กลายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชาธิบดีองค์แรกของภูฏาน คือ สมเด็จพระเจ้าอูเก็น วังชุก (Ugyen Wangchuck) ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1907  

           พระราชวังแห่งนี้จึงถือเป็นสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์วังชุก และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านจากระบบการปกครองโดยลามะและขุนนางท้องถิ่น ไปสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์ พระราชวังถูกสร้างขึ้นตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมภูฏานแท้ ๆ โดยมีโครงสร้างไม้และหินอย่างแข็งแรง ที่ไม่มีการใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว มีหลังคาทรงสูงแบบโบราณ ประดับด้วยลวดลายและสีสันสดใสตามคติความเชื่อของพุทธศาสนา ภายในมีห้องพักหลายห้องที่ยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้เป็นอย่างดี รวมถึงห้องพระที่ใช้สำหรับสวดมนต์และพิธีกรรมทางศาสนา 

           ถึงแม้ว่าในปัจจุบันพระราชวังดิโชลิงจะไม่ได้ใช้เป็นที่พำนักของกษัตริย์อีกต่อไป แต่ก็ยังคงได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี และเปิดให้ผู้ที่มาเที่ยวภูฏานได้เยี่ยมชมบางส่วน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติได้อย่างใกล้ชิดเมื่อมาทัวร์ภูฏาน บริเวณด้านนอกถูกล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งทุ่งหญ้าเขียวขจี ต้นไม้เก่าแก่ขนาดใหญ่ และภูเขาสูงที่ล้อมรอบ จึงทำให้พระราชวังแห่งนี้มอบบรรยากาศที่เงียบสงบและสง่างามได้ในเวลาเดียวกัน 

เกร็ดความรู้

           การมาทัวร์ภูฏานที่บุมทังไม่ได้มีเพียงแค่โบราณสถานหรือวัดวาอารามเท่านั้น แต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และธรรมชาติอันงดงาม สถานที่ท่องเที่ยวภูฏานที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นรอยประทับศักดิ์สิทธิ์ของคุรุรินโปเชที่วัดกูร์เจ ลาคัง สัมผัสความเก่าแก่และความศักดิ์สิทธิ์ของวัดจัมปา ลาคัง สถานที่ซึ่งเป็นพยานแห่งการมาถึงของพุทธศาสนา ชมความสง่างามของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างพระราชวังวังดิโชลิง ซึ่งแต่ละแห่งล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวและตำนานทางประวัติศาสตร์ ดังนั้นใครที่วางแผนมาทัวร์ภูฏานแล้วต้องการสัมผัสแก่นแท้ของจิตวิญญาณแห่งหิมาลัย ดินแดนแห่งรากเหง้าของศาสนาพุทธในภูฏาน เมืองบุมทังคือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับความต้องการนี้ค่ะ ซึ่งการมาเยือนบุมทังจะทำให้เราได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ว่าทำไมภูฏานถึงได้รับการขนานนามว่าเป็นดินแดนแห่งความสุขได้อย่างแท้จริง