เวลาทำการ

จันทร์-ศุกร์ :

09.00 - 18.00 น.

เราช่วยคุณได้

@taladtour

Travel License : 11/11173

หน้าแรก

/

บทความท่องเที่ยว

/

แนะนำที่เที่ยวเมืองพูนาคา เมืองนี้มีอะไรน่าเที่ยวบ้าง

แนะนำที่เที่ยวเมืองพูนาคา เมืองนี้มีอะไรน่าเที่ยวบ้าง

18

Jun

2025

ภูฏาน

แนะนำที่เที่ยวเมืองพูนาคา เมืองนี้มีอะไรน่าเที่ยวบ้าง

      พาทุกคนมาเยือนเมืองหลวงเก่าในอดีตแห่งภูฏานกันที่เมืองพูนาคา (Punakha) อีกหนึ่งจุดหมายปลายทางในการทัวร์ภูฏาน (Bhutan) สำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสกับประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ วัฒนธรรมอันเข้มข้น และธรรมชาติที่ยังคงความบริสุทธิ์งดงาม อดีตเมืองหลวงแห่งนี้เปรียบเสมือนหัวใจทางประวัติศาสตร์ของภูฏาน ที่ซึ่งเรื่องราวในอดีตยังคงมีชีวิตชีวาข้ามกาลเวลาผ่านป้อมปราการอันยิ่งใหญ่ และวัดวาอารามอันศักดิ์สิทธิ์ให้เราได้สัมผัสด้วยตัวเองในปัจจุบัน และถ้าหากใครกำลังหาข้อมูลเที่ยวภูฏานที่เมืองพูนาคา รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวแนะนำของเมืองพูนาคา เราก็ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของเมืองพูนาคา และสถานที่ท่องเที่ยวแนะนำของเมืองนี้ที่ห้ามพลาดมาฝากกันค่ะ 

ประวัติศาสตร์ของเมืองพูนาคา (Punakha) อดีตราชธานีของภูฏาน

      ในอดีตเมืองพูนาคา (Punakha) เคยทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงของภูฏานมาอย่างยาวนานถึงกว่า 300 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1680 จนถึงปี ค.ศ. 1955 ก่อนที่จะมีการย้ายเมืองหลวงไปยังทิมพู (Thimphu) ว่ากันว่าในตอนนั้นเมืองพูนาคาถูกเลือกให้เป็นเมืองหลวงอันเนื่องมาจากมีภูมิประเทศที่เหมาะสม ตั้งอยู่ในหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์ที่ความสูง 1,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล  เป็นจุดรวมของแม่น้ำ 2 สาย ได้แก่แม่น้ำโพชู (Pho Chhu - แม่น้ำพ่อ) และแม่น้ำโมชู (Mo Chhu - แม่น้ำแม่) ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของภูฏานที่ไหลมาบรรจบกันบริเวณหน้าพูนาคาซอง หรือ ป้อมพูนาคา (Punakha Dzong) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการเกษตรและเป็นประการธรรมชาติในการป้องกันภัย อีกทั้งยังมีอุณหภูมิที่อบอุ่นมากกว่าเมืองอื่น ๆ โดยเฉพาะในฤดูหนาว จึงเป็นเมืองที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยเป็นอย่างยิ่ง 
      ความรุ่งเรืองของเมืองพูนาคาเริ่มต้นขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 ภายใต้การนำของ ซับดรุง งาวัง นัมเกล (Zhabdrung Ngawang Namgyal) บุคคลสำคัญผู้ซึ่งรวบรวมแคว้นต่าง ๆ ของภูฏานให้เป็นหนึ่งเดียว และเป็นผู้สถาปนาระบบการปกครองแบบ "ซอง" (Dzong) ที่เป็นการรวมศูนย์อำนาจทั้งทางศาสนาและทางโลกเข้าไว้ด้วยกัน โดยได้มีการสร้างพูนาคาซอง หรือ ป้อมพูนาคา (Punakha Dzong) ขึ้นที่บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำทั้งสองสาย นั่นจึงทำให้เมืองนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของประเทศในเวลาต่อมา โดยตลอดระยะเวลาที่พูนาคาเป็นเมืองหลวง ก็ได้มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย อันเป็นรากฐานสำคัญที่หล่อหลอมภูฏานให้กลายเป็นเช่นในปัจจุบัน โดยเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เมืองพูนาคาเป็นเมืองหลวง ก็มีทั้งการลงนามในสนธิสัญญาสำคัญต่าง ๆ ระหว่างภูฏานกับประเทศมหาอำนาจเพื่อนบ้าน เช่น สนธิสัญญาพูนาคาระหว่างภูฏานกับอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1910 สนธิสัญญาพูนาคาระหว่างภูฏานกับอินเดียในปี ค.ศ. 1949 การจัดพิธีราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอุเก็น วังชุก (Ugyen Wangchuck) กษัตริย์องค์แรกของภูฏาน ในปี ค.ศ. 1907 ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ในภูฏาน รวมไปถึงการประกาศกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่สำคัญของประเทศ ที่ได้ถูกประกาศและบังคับใช้จากพูนาคา 
      หลังจากที่เมืองหลวงของภูฏานได้ย้ายจากเมืองพูนาคาไปยังเมืองทิมพู (Thimphu) ในปี ค.ศ. 1955 อันเนื่องมาจากภูมิประเทศที่เหมาะสมมากกว่า พูนาคาก็ยังคงเป็นเมืองที่มีสถานะพิเศษและยังเป็นเมืองหลวงทางจิตวิญญาณของชาวภูฎาน ซึ่งพระสังฆราช (Je Khenpo) ประมุขสูงสุดทางศาสนาของภูฏานก็ยังคงย้ายที่ประทับมาจำพรรษาที่พูนาคาซองในช่วงฤดูหนาว และกลับไปประทับที่ตาชิโชซองในทิมพูในช่วงฤดูร้อน การดำรงอยู่ของพูนาคาซองอันยิ่งใหญ่ และความสำคัญทางศาสนาที่หยั่งรากลึกมากว่า 300 ปี จึงทำให้พูนาคายังคงเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความสำคัญ และเป็นเมืองที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับรากเหง้าของภูฏานอย่างแท้จริง 

แนะนำที่เที่ยวเมืองพูนาคา (Punakha)

สถานที่ท่องเที่ยวภูฏานในเมืองพูนาคา (Punakha) ส่วนใหญ่เป็นสถานที่ในอดีตที่ยังคงมีความสำคัญ และเต็มไปด้วยชีวิตชีวามาจนถึงปัจจุบัน การมาเยือนสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เราได้สัมผัสกับราชธานีแห่งความยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ของภูฏานในอดีตได้ด้วยตนเอง 
พูนาคาซอง หรือ ป้อมพูนาคา (Punakha Dzong)
จุดหมายปลายทางสำคัญที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาทัวร์ภูฏานที่พูนาคา พูนาคาซอง หรือ ป้อมพูนาคา (Punakha Dzong) สถาปัตยกรรมชิ้นเอกที่ยิ่งใหญ่และงดงามที่สุดแห่งหนึ่งในภูฏาน อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ทางด้านประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณของประเทศ ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1637 โดย ซับดรุง งาวัง นัมเกล (Zhabdrung Ngawang Namgyal) ผู้ซึ่งรวบรวมแคว้นต่าง ๆ ของภูฏานให้เป็นปึกแผ่น และเป็นผู้ริเริ่มระบบการปกครองแบบซอง โดยมีจุดประสงค์หลักในการก่อสร้างพูนาคาซองเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการปกครองและศาสนา และเป็นป้อมปราการเพื่อป้องกันการรุกรานจากทิเบต สร้างขึ้นบนจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญบริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำ Pho Chhu (แม่น้ำพ่อ) และ Mo Chhu (แม่น้ำแม่) ซึ่งเปรียบเสมือนปราการธรรมชาติอันแข็งแกร่ง 
พูนาคาซองเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบในแง่สถาปัตยกรรมแบบซองของภูฏาน ด้วยโครงสร้างที่มีความโดดเด่นซึ่งไม่มีการใช้ตะปูในการก่อสร้างโดยแม้แต่ตัวเดียว แต่อาศัยเทคนิคการวางโครงไม้ที่มีความสลับซับซ้อนและแน่นหนา กำแพงสูงใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาจากหินและดินเผาที่มีความแข็งแกร่งและคงทน ภายในซองประกอบไปด้วยลาน อาคารต่าง ๆ และวัด ที่ใช้ในการบริหารราชการและกิจของสงฆ์ ภายในวัดและห้องต่าง ๆ ของซองถูกประดับประดาไปด้วยภาพกิจกรรมฝาผนังโบราณ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา เทพเจ้า และประวัติศาสตร์ของภูฏาน อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานของรูปปั้นพระพุทธรูป และคุรุรินโปเช (Guru Rinpoche) อันศักดิ์สิทธิ์  
พูนาคาซองมีบทบาทสำคัญต่อภูฏานมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ เช่น สถานที่จัดพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์องค์แรกของภูฏานในปี ค.ศ. 1907 และพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กับสมเด็จพระราชินีเจ็ตซุน เพมา ในปี ค.ศ. 2011 อีกทั้งยังเป็นที่ประทับของพระสังฆราช (Je Khenpo) ผู้ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดทางศาสนาของภูฏาน ซึ่งท่านและพระสงฆ์ผู้ติดตามจะย้ายจากตาชิโชซองในทิมพู มาจำพรรษาที่พูนาคาซองในช่วงฤดูหนาว (ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน) ถ้าหากมาเที่ยวภูฏานกันในช่วงนี้ก็อาจมีโอกาสได้เห็นพระสงฆ์จำนวนมากที่ย้ายมาจำพรรษากันป้อมพูนาคาแห่งนี้ด้วยค่ะ  

เกร็ดความรู้

เวลาทำการ เปิด-ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 9:00-17:00 น.

วัดชิมิลาคัง (Chimi Lhakhang) เมืองพูนาคา
วัดชิมิลาคัง (Chimi Lhakhang) เป็นอารามพุทธในเมืองพูนาคา ก่อสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1499 โดยพระลามะ Ngawang Chogyal เจ้าอาวาสองค์ที่ 14 ของอาราม Ralung และเป็นพี่ชายของ Drukpa Kunley หรือที่รู้จักกันในชื่อพระลามะเทวะคลั่ง (Divine Madman) พระลามะที่มีชื่อเสียงในเรื่องวิธีการสอนศาสนาที่แหกกฎเกณฑ์ไม่เหมือนใครและมีนัยทางเพศแฝง ท่านเป็นที่จดจำจากการใช้องคชาตของในการตรัสรู้และปราบปีศาจ ซึ่งองคชาตของท่านมีพลังมากจนได้รับการขนานนามว่า "สายฟ้าแห่งปัญญาอันร้อนแรง" (Flaming Thunderbolt of Wisdom) มีตำนานเล่าขานว่าในอดีต Drukpa Kunley ได้ปราบปีศาจแห่ง Dochu La ด้วยสายฟ้าแห่งปัญญาอันร้อนแรงนี้ และขังมันไว้ในหินที่วัดแห่งนี้ อวัยวะเพศชายหรือ “ลึงค์” จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และโชคลาภ  
วัดชิมิลาคังเป็นวัดขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีอาคารหลังคาสีเหลืองทอง มียอดแหลมสีทอง แผ่นหินชนวนที่แกะสลักเป็นรูปนักบวช มีกงล้ออธิษฐานเรียงกันเป็นแถว บริเวณใกล้ทางเข้าวัดมีสถูปเล็ก ๆ ซึ่งมีเครื่องหมายแสดงตำแหน่งที่พระลามะ Drukpa Kunley ได้ปราบปีศาจเอาไว้ด้วย ภายในโถงสวดมนต์มีเครื่องรางของขลังแบบตันตระ พระบฏ (thangkas) ระฆัง กลอง แตร วัชระ (dorjis) และกระดูกหน้าแข้งมนุษย์ (kangd) รวมไปถึงรูปปั้นของ Drukpa Kunley ประทับนอนตะแคงบนแท่นบูชา พร้อมกับรูปปั้นสุนัขของท่านที่ชื่อ Sachi นอกจากนี้ก็ยังมีรูปปั้นของ Ngawang Namgyal พระศากยมุนีพุทธเจ้า และพระอวโลกิเตศวร ประดิษฐานอยู่ในวัดแห่งนี้ด้วยเช่นกัน 
ความโดดเด่นของวัดนี้อยู่ที่ “ลึงค์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ตามคติของลามะ Drukpa Kunley ดังนั้นระหว่างที่เดินทางทัวร์ภูฏานมายังวัดแห่งนี้ ก็จะสามารถเห็นรูปวาดและรูปปั้นของอวัยวะเพศชายได้ทั่วไปตามกำแพงบ้านเรือน โดยชาวภูฏานนั้นมีความเชื่อกันว่าสัญลักษณ์นี้สามารถช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และโชคลาภได้ ผู้หญิงที่ต้องการมีบุตรก็มักจะเดินทางมาที่วัดชิมิลาคังเพื่อทำพิธีขอบุตรจากพระลามะ โดยในพิธีกรรมพระลามะก็จะใช้ลึงค์ หรือที่เรียกว่าค้อนไม้ศักดิ์สิทธิ์ (phallus) ที่ทำจากงาช้าง ไม้ และกระดูก ในลักษณะตั้งตรงความยาว 10 นิ้ว เคาะเบา ๆ ที่ศีรษะเพื่อประทานพร และเพื่อเป็นการตั้งชื่อลูกที่จะเกิดขึ้นก็จะทำการสุ่มหยิบไม้ไผ่ที่วางอยู่บนแท่นบูชา ซึ่งจะมีชื่อของเด็กชายและเด็กหญิงสลัก ซึ่งถ้าหากใครสนใจก็สามารถลองเข้าร่วมพิธีขอบุตรนี้กันได้ค่ะ
เวลาทำการ เปิด-ปิด :  เปิดทำการทุกวัน เวลา 9:00–13:00 น. และ 14:00–17:00 น. 

เกร็ดความรู้

เวลาทำการ เปิด-ปิด :  เปิดทำการทุกวัน เวลา 9:00–13:00 น. และ 14:00–17:00 น. 

สะพานแขวนพูนาคา (Punakha Suspension Bridge)
สะพานที่ยาวที่สุดและสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในภูฏาน สะพานแขวนพูนาคาไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางวิศวกรรมเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของชาวภูฏานได้อย่างลึกซึ้ง สะพานแขวนโบราณแห่งนี้มีอายุถึงกว่า 1,637 ปี ถูกสร้างขึ้นในสมัยที่พูนาคายังรุ่งเรืองในฐานะเมืองหลวงของภูฏาน เชื่อกันว่าสะพานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยทังตง เกียลโป (Thangtong Gyalpo) พระลามะผู้ซึ่งเป็นสถาปนิกและผู้สร้างสะพานโซ่เหล็กอันยิ่งใหญ่ ที่ได้สร้างสะพานเหล็กในภูฏานเอาไว้หลายแห่งในช่วงศตวรรษที่ 15 ถึงแม้ว่าจะไม่มีบันทึกวันก่อสร้างที่แน่นอน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสะพานแขวนเก่าแก่ที่สุดซึ่งยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เดิมทีถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อเมืองพูนาคากับหมู่บ้านเล็ก ๆ อย่าง หมู่บ้าน เชนกานา (Shengana), ซัมดิงคา (Samdingkha) และวังคา (Wangkha) ทอดข้ามแม่น้ำ Tsang Chu (หรือที่เรียกว่า Po Chu) โดยมีความยาวประมาณ 520 ฟุต หรือประมาณ 160 เมตร 
สะพานแขวนพูนาคาเป็นสะพานที่ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบดั้งเดิมของภูฏาน ซึ่งจะใช้คานยื่นยึดกับฝั่งหนึ่งและยื่นออกไปในแนวนอนเพื่อไปยังอีกฝั่งหนึ่ง โดยใช้สายเคเบิ้ลเหล็กและแผ่นไม้เนื้อแข็ง สายเคเบิ้ลจะยึดกับแท่นคอนกรีตขนาดใหญ่บนฝั่งทั้ง 2 ด้าน ตัวสะพานถูกประดับประดาไปด้วยธงมนต์ทางพุทธศาสนาหลากสีสัน ที่จะพัดปลิวอย่างมีชีวิตชีวายามสายลมพัดผ่าน อันเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่สำคัญของวัฒนธรรมภูฏาน ที่เชื่อกันว่าเมื่อมีลมพัดผ่านธงเหล่านี้ ก็จะนำพาเอาบทสวดและพรไปยังสรวงสวรรค์ เมื่อขึ้นไปเดินบนสะพานก็จะมีการแกว่งไกวเล็กน้อยเมื่อลมพัดแรง ท่ามกลางสายน้ำที่เชี่ยวกรากด้านล่าง และวิวทิวทัศน์อันน่าทึ่งของแม่น้ำและหุบเขาในรอบ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นเมื่อมาทัวร์ภูฏานเลยก็ว่าได้ค่ะ 
สะพานพูนาคาได้รับการบูรณะมาหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งครั้งหนึ่งสะพานแห่งนี้เคยเป็นสะพานแขวน 1 ใน 8 แห่งที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของสะพานแขวนสมัยใหม่หลายแห่ง ปัจจุบันนอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวภูฏานที่สำคัญแล้ว ก็ยังคงถูกใช้เพื่อเชื่อมโยงหมู่บ้านรอบนอกกับตัวเมือง และใช้ในการเดินทางของพระเพื่อไปหรือกลับจากวัดต่าง ๆ นั่นจึงทำให้สะพานแขวนแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นเส้นทางสัญจร แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่มาทัวร์ภูฏานสามารถสัมผัสกับความงามตามธรรมชาติ ความเงียบสงบ วิถีชีวิต และความสามารถในด้านการออกแบบที่น่าทึ่งของภูฏานในอดีตที่ยังคงมีชีวิตชีวาอยู่ในปัจจุบัน  

เกร็ดความรู้

เวลาทำการ เปิด-ปิด : เปิดทุกวันไม่มีวันหยุดตลอด 24 ชั่วโมง 

กิจกรรมพายเรือคายัคและล่องแก่ง การผจญภัยในสายน้ำแห่งพูนาคา
นอกจากการเดินป่าและเดินเท้าไปยังวัดและอารามแล้ว นักท่องเที่ยวที่มาทัวร์ภูฏานยังสามารถเลือกกิจกรรมผจญภัยสุดมันส์และท้าทาย ด้วยการพายเรือคายัคและล่องแก่งไปตามแม่น้ำโปชู (Pho Chhu) ซึ่งมีต้นน้ำมาจากธารน้ำแข็งบริเวณภาคเหนือ และแม่น้ำโมชู (Mo Chhu) ซึ่งไหลมาจากทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งแม่น้ำทั้งสองสายก็มีน้ำที่ใสและไหลเชี่ยวในบางช่วง จึงเหมาะสำหรับการล่องแก่งและพายเรือคายัคเป็นอย่างยิ่ง หากมาทัวร์ภูฏานกันเป็นกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัว และยังไม่มีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมนี้มาก่อน แนะนำให้เลือกเป็นการล่องแก่ง (Rafting) กันก่อนค่ะ โดยจะมีไกด์ท้องถิ่นประจำลำเรือคอยดูแลให้บริการตลอดเส้นทาง แต่สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในระดับหนึ่งและอยากสัมผัสประสบการณ์อันตื่นเต้นท้าทายแบบเต็มที่ สามารถเลือกกิจกรรมพายเรือคายัค (Kayaking) โดยจะมีไกด์คอยนำเส้นทางให้ค่ะ 
ระดับความยากของเส้นทางล่องแก่งและพายเรือคายัคในพูนาคา ก็มีเส้นทางให้เลือกหลากหลายเส้นทางโดยแบ่งความยากเป็น Class II ถึง Class III+ ประกอบไปด้วยเส้นทาง Toebesa – Khuruthang ในแม่น้ำโมชู โดยมีระดับความยากอยู่ที่ Class II มีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร เส้นทาง Samdingkha - Punakha Dzong ในแม่น้ำโพชู ระดับความยาก Class III - III+ ระยะทาง 12 กิโลเมตร และเส้นทางง่าย ๆ สั้น ๆ ระดับ Class II อย่างฐานรวมแม่น้ำโพชู-โมชู (Confluence) ที่บริเวณจุดชมวิวซอง ระยะทาง 6 กิโลเมตร ให้เราได้สัมผัสกับประสบการณ์อันแสนตื่นเต้นในกระแสน้ำ ท่ามกลางฉากหลังของพูนาคาซองและใต้สะพานแขวนพูนาคา ซึ่งในระหว่างทางมักจะพบเห็นนกประจำท้องถิ่น เช่น นกกระสาท้องขาวและนกกระเต็นอีกด้วย 
สำหรับเส้นทางการล่องแก่งและพายเรือคายัค รวมไปถึงผู้ให้บริการในพื้นที่ แนะนำให้ทำการตรวจสอบกับบริษัททัวร์ที่เราใช้บริการกันก่อนค่ะ ซึ่งถ้าหากอยากมาผจญภัยกับการล่องแก่งและพายเรือคายัค ก็สามารถเลือกแพ็คเกจทัวร์ภูฏานที่มีกิจกรรมนี้รวมอยู่ด้วยก็ได้ โดยแนะนำให้เตรียมชุดให้สำหรับเปลี่ยนหลังจากจบกิจกรรม สวมใส่เสื้อผ้าที่แห้งเร็ว หลีกเลี่ยงการพกกล้องหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีเคสกันน้ำ ที่สำคัญคือควรทำประกันการเดินทาง หรือเลือกผู้ให้บริการที่มีประกันอุบัติเหตุให้ด้วยเพื่อความปลอดภัยค่ะ โดยฤดูกาลที่แนะนำให้มาทำกิจกรรมล่องแก่งและพายเรือคายัค ก็จะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ คือประมาณเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม และช่วงฤดูใบไม้ร่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ถ้าหากมาในช่วงฤดูร้อนและฤดูมรสุม อาจมีน้ำหลากทำให้ไม่สามารถล่องแก่งได้ ควรสอบถามก่อนทำการจองทัวร์ภูฏาน ในขณะที่ฤดูหนาวนั้นน้ำในแม่น้ำจะเย็นจัดเกินไป จริงไม่เหมาะสำหรับการทำกิจกรรมทางน้ำนั่นเอง 


เกร็ดความรู้

เวลาทำการ เปิด-ปิด : 09:00 – 16:30 น. (วันจันทร์ – วันอาทิตย์)  


เกร็ดความรู้

เรียกได้ว่าเมืองพูนาคานั้น เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการมาทัวร์ภูฏานเลยทีเดียวค่ะ อดีตเมืองหลวงของภูฏานที่เต็มไปด้วยธรรมชาติอันงดงามอุดมสมบูรณ์ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายและกิจกรรมสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นพูนาคาซอง ป้อมปราการริมแม่น้ำอันงดงาม วัดชิมิลาคัง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการขอบุตรและการบูชาลึงค์ สะพานแขวนพูนาคา ประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตซึ่งทอดยาวข้ามแม่น้ำโมชูอันงดงาม ไปจนถึงกิจกรรมแอดเวนเจอร์อย่างการล่องแก่งและพายเรือคายัคท่ามกลางทิวทัศน์ภูเขาเขียวขจี เมืองพูนาคาจึงเป็นสถานที่เที่ยวภูฏานที่ตอบโจทย์ทั้งสายแสวงบุญและสายผจญภัยได้อย่างน่าประทับใจ