เวลาทำการ

จันทร์-ศุกร์ :

09.00 - 18.00 น.

เราช่วยคุณได้

@taladtour

Travel License : 11/11173

หน้าแรก

/

บทความท่องเที่ยว

/

แนะนำที่เที่ยวเมืองพาโร พาโรซอง เมืองนี้มีอะไรน่าเที่ยวบ้าง

แนะนำที่เที่ยวเมืองพาโร พาโรซอง เมืองนี้มีอะไรน่าเที่ยวบ้าง

23

Jun

2025

ภูฏาน

แนะนำที่เที่ยวเมืองพาโร พาโรซอง เมืองนี้มีอะไรน่าเที่ยวบ้าง

เมื่อพูดถึงทัวร์ภูฏาน (Bhutan)หลายคนก็มักจะนึกถึงเมืองพาโร (Paro) เป็นจุดหมายปลายทางเที่ยวภูฏานอันดับแรกกันค่ะ เพราะที่นี่คือประตูสู่ประเทศภูฏานซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติเพียงแห่งเดียวในภูฏาน อย่างสนามบินนานาชาติพาโร (Paro International Airport: PBH) อีกทั้งยังมีความสะดวกในด้านของการเดินทาง เต็มไปด้วยกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและจิตวิญญาณดั้งเดิมอันเข้มข้น เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของภูฏานมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเราก็ได้รวบรวมข้อมูลเที่ยวภูฏานของเมืองพาโร (Paro) รวมไปถึงพาโรซอง (Paro Dzong) มาฝากกันค่ะ 

เมืองพาโร ประตูสู่ประเทศภูฏาน (ประวัติศาสตร์ของเมืองพาโร)

เมืองพาโร ประตูสู่ประเทศภูฏาน (ประวัติศาสตร์ของเมืองพาโร)
         เมืองพาโร (Paro) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในหุบเขาพาโร (Paro Valley) ซึ่งเป็นหุบเขากว้างใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งทางภาคตะวันตกของภูฏาน ล้อมรอบด้วยเทือกเขาหิมาลัยที่งดงามอลังการ พาโรจึงเป็นจุดหมายยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสัมผัสธรรมชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมแบบภูฏานแท้ ๆ ในอดีตเมืองพาโรเคยเป็นศูนย์กลางของเส้นทางการค้าผ่านเส้นทางข้ามเขาหิมาลัยระหว่างภูฏานกับทิเบต นั่นจึงทำให้วัฒนธรรม ศาสนา และสถาปัตยกรรมของพาโรได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมากจากทิเบต รวมถึงการนำพุทธศาสนาแบบวัชรยานเข้ามาสู่ภูฏานผ่านพระอาจารย์ชื่อดังหลายท่าน เช่น พระคุรุรินโปเช (Padmasambhava) และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์เมืองพาโร ก็คือการก่อสร้าง “พาโรซอง” (Paro Dzong) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยซับดรุง งาวัง นัมเกล (Zhabdrung Ngawang Namgyal) บุคคลสำคัญผู้รวมอาณาจักรภูฏานให้เป็นหนึ่งเดียว ทำให้ที่นี่เป็นทั้งศูนย์กลางการปกครอง และป้อมปราการที่สำคัญในการป้องกันการรุกรานจากทิเบต 
นอกจากนี้เมืองพาโรยังเป็นที่ตั้งของวัดศักดิ์สิทธิ์ระดับโลกอย่างวัดทักซัง (Taktshang Goemba) หรือ ถ้ำเสือซึ่งตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชัน ที่เชื่อว่าพระคุรุรินโปเชเคยทำสมาธิเพื่อปราบปีศาจในศตวรรษที่ 8 โดยในช่วงศตวรรษที่ 20 เมืองพาโรได้เริ่มพัฒนาเข้าสู่ยุคใหม่ โดยที่ยังคงรักษาซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการจัดงานเทศกาลใหญ่ ๆ ระดับประเทศ เช่นเทศกาลหน้ากาก Paro Tshechu ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ด้วยความสงบและวิวทิวทัศน์อันแสนงดงาม เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวภูฏานทางธรรมชาติ ทุ่งนา วัดวาอาราม ป้อมปราการ รวมไปถึงบ้านเรือนในสไตล์ภูฐานแบบดั้งเดิม จึงทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเริ่มต้นเส้นทางการทัวร์ภูฏานกันที่เมืองพาโรแห่งนี้ค่ะ 

พิกัด

พาโรซอง (Paro Dzong) ลิตเติลบุดดา

พาโรซอง (Paro Dzong) ลิตเติลบุดดา
เป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญทางประวัติศาสตร์ของภูฏาน มีชื่อเต็มว่า รินปุงซอง (Rinpung Dzong) แปลว่า ป้อมปราการแห่งกองแก้วมณี หรือป้อมปราการกองเพชร ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาริมแม่น้ำพาโร (Paro Chhu) รายล้อมด้วยภูเขาที่สลับซับซ้อน ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พาโรซอง (Paro Dzong) แห่งนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางและถูกเรียกว่าลิตเติลบุดดา (Little Buddha) เนื่องมาจากที่นี่ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง “Little Buddha” ที่กำกับโดยแบร์นาโด แบร์โตลุชชิ (Bernardo Bertolucci) เมื่อปี ค.ศ. 1993 นั่นเองค่ะ โดยเป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในรูปแบบของภาพยนตร์ และเลือกพาโรซองเป็นฉากหลังในการถ่ายทอดฉากของวัดและวังแบบภูฏานดั้งเดิม จึงทำให้ภาพของอาคารขนาดใหญ่สีขาวหลังคาแดงซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา กลายเป็นภาพจำของนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาทัวร์ภูฏาน เพื่อสัมผัสสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งพุทธศาสนาแห่งนี้ค่ะ ไฮไลท์ที่ห้ามพลาดคือสถาปัตยกรรมไม้แบบดั้งเดิมที่ไม่มีการใช้ตะปู แต่จะใช้เทคนิคการเข้าไม้แบบภูฏานโบราณ ภาพกิจกรรมฝาผนังภายในที่ประกอบไปด้วยภาพพระโพธิสัตว์ และภาพพุทธประวัติที่มีความวิจิตรงดงาม สะพานไม้โบราณที่เชื่อมต่อระหว่างตัวเมืองกับพาโรซองอันเป็นจุดถ่ายภาพยอดนิยม รวมไปถึงเทศกาล Paro Tshechu เทศกาลใหญ่ประจำปีที่จัดขึ้นในวันที่สิบของเดือนที่สองในปฏิทินจันทรคติของภูฏาน ซึ่งโดยทั่วไปตรงกับฤดูใบไม้ผลิหรือประมาณช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน มีการแสดงหน้ากาก การเต้นรำ รวมไปถึงพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์  

เกร็ดความรู้

เวลาทำการ เปิด-ปิด: เปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่มีวันหยุด 
ฤดูร้อน (มีนาคม – ตุลาคม) เปิดตั้งแต่เวลา 08:00 – 18:00 น.
ฤดูหนาว (พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์): เปิดตั้งแต่เวลา 08:00 – 16:30 น.

พิกัด

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูฏาน หรือ ตาซอง (NATIONAL MEMORIAL CHORTEN)

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูฏาน หรือ ตาซอง (NATIONAL MEMORIAL CHORTEN)
ในอดีตตาซอง (Ta Dzong) เป็นป้อมปราการและหอสังเกตการณ์สำหรับป้องกันการรุกรานของชาวทิเบต ตั้งอยู่บนเนินเขาเหนือเหนือพาโรซอง (Paro Dzong) ในเมืองพาโร ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1649 สร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1651 โดย Ponlop Tenzin Drukdra ผู้ว่าราชการคนแรกของเมืองพาโร ซึ่งรูปร่างของตาซองแห่งนี้จะมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ซึ่งแตกต่างจากตาซองโดยทั่วไปของภูฏานที่มักจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม สะท้อนให้เห็นถึงความฉลาดเกี่ยวกับการออกแบบเชิงกลยุทธ์ในอดีต โดยในปี ค.ศ. 1968 สมเด็จพระราชา จิกมี ดอร์จิ วังชุก (Jigme Dorji Wangchuck) พระราชาธิบดีองค์ที่ 3 แห่งภูฏาน ได้มีพระราชดำริให้เปลี่ยนตาซองเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูฏาน เพื่อเก็บรวบรวมและจัดแสดงสมบัติล้ำค่าทางวัฒนธรรมและศิลปกรรมของชาติ ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุโบราณถึงกว่า 3,000 ชิ้น ที่ครอบคลุมทั้งงานศิลปะ รูปปั้น ภาพวาด เครื่องสำริด เครื่องแต่งกายโบราณ อาวุธยุทธภัณฑ์ พระพุทธรูปโบราณ หน้ากากทางศาสนา ตำราทางศาสนา รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวภูฏานในอดีต โดยบางชิ้นงานมีอายุถึงกว่า 1,500 ปี หนึ่งในไฮไลท์ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวก็คือภาพกิจกรรมวงล้อแห่งชีวิต (Wheel of Life) และหน้ากากเต้นรำทางศาสนาที่ถูกนำไปใช้ในเทศกาลสำคัญอย่าง Tsechu อันสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณของศาสนาพุทธแบบวัชรยานได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่บนเนินเขา จึงทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นจุดชมวิวของหุบเขาพาโรในมุมกว้างที่งดงามเป็นอย่างมาก โดยสามารถมองเห็นทุ่งนา บ้านเรือนแบบดั้งเดิม รวมไปถึงเทือกเขาโดยรอบได้แบบพาโนรามา  


เกร็ดความรู้

เวลาทำการ เปิด-ปิด: 09.00 – 17.00 น. (ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์บางวัน)

พิกัด

ดรุกเกลซอง (Drukgyel Dzong)

ดรุกเกลซอง (Drukgyel Dzong)
หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวภูฏานที่มีความสำคัญตามประวัติศาสตร์ ซึ่งบอกเลยว่าควรค่าแก่การมาเยือนเมื่อมาทัวร์ภูฏานเป็นอย่างยิ่งค่ะ ดรุกเกลซอง (Drukgyel Dzong) หรือป้อมปราการแห่งชัยชนะของภูฏาน ป้อมปราการโบราณที่ถือแม้ว่าในปัจจุบันจะเหลือเพียงซากปรักหักพังบางส่วน แต่ก็ยังสื่อให้เห็นถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของชาวภูฏานได้อย่างลึกซึ้ง ป้อมปราการแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1649 โดยซับดรุง งาวัง นัมเกล (Zhabdrung Ngawang Namgyal) ที่ถือได้ว่าเป็นผู้ก่อตั้งรัฐชาติภูฏาน เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะเหนือการรุกรานของกองทัพทิเบตในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยคำว่า Drukgyel นั้นมีความหมายว่าชัยชนะของชาวดรุก ซึ่งหมายถึงชาวภูฏานโดยตรง นั่นจึงทำให้ป้อมปราการแห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกราช และถือได้ว่าเป็นตัวแทนความแข็งแกร่งของอาณาจักรภูฏานในอดีต ที่ตั้งของ Drukgyel Dzong จะอยู่บริเวณเนินเขาทางตอนเหนือของหุบเขาพาโร แวดล้อมไปด้วยวิวภูเขาที่มีความสลับซับซ้อน วันที่ท้องฟ้าเปิดจะสามารถมองเห็นยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ จูโมลฮารี (Jomolhari) ได้อย่างชัดเจน ถือได้ว่าเป็นจุดชมวิวที่มีความงดงามราวกับภาพวาดเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าป้อมปราการแห่งนี้จะถูกไฟไหม้เสียหายอย่างหนักในปี ค.ศ. 1951 และไม่ได้รับการบูรณะมาเป็นเวลานาน แต่โครงสร้างที่เป็นหินที่หลงเหลืออยู่บางส่วนยังคงตั้งตระหง่าน เผยให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมภูฏานได้เป็นอย่างดี โดยใน ค.ศ. 2016 รัฐบาลได้เริ่มโครงการฟื้นฟู Drukgyel Dzong โดยอ้างอิงจากรูปแบบดั้งเดิมเพื่อให้ยังคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของสิ่งปลูกสร้างในอดีต ทำให้ที่นี่กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำหรับการทัวร์ภูฏานที่ไม่ควรพลาดค่ะ 


เกร็ดความรู้

เวลาทำการ เปิด-ปิด: 09.00 – 17.00 น. เปิดทุกวัน (รวมวันหยุดนักขัตฤกษ์)

พิกัด

วัดทักซัง (Taktshang Goemba)

วัดทักซัง (Taktshang Goemba)
เป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของภูฏาน เส้นทางแห่งศรัทธาบนหน้าผาที่มีอายุย้อนกลับไปตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 8 ตามตำนานเล่าว่าพระคุรุรินโปเช (Padmasambhava) ได้ขี่เสือเพศเมียเหาะมาจากทิเบต แล้วมานั่งสมาธิที่ถ้ำบนหน้าผาเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อปราบปีศาจและเผยแผ่พุทธศาสนาในภูฏาน นั่นจึงทำให้วัดทักซังถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1692 บริเวณหน้าผาที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระคุรุรินโปเชตามตำนานนั่นเอง โดยตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันกว่า 900 เมตร จากพื้นหุบเขาพาโร และอยู่ที่ความสูงกว่า 3,120 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นวัดพุทธศาสนานิกายวัชรยานที่ชาวภูฎานและชาวพุทธโลกให้ความเคารพบูชา โดยนักท่องเที่ยวที่มาทัวร์ภูฏานจะต้องเดินทางไกลประมาณ 4.5 กิโลเมตร หรือไปกลับรวมแล้ว 9 กิโลเมตรบนเส้นทางที่ค่อนข้างสูงชัน โดยใช้เวลาเดินประมาณ 4-6 ชั่วโมง ซึ่งระหว่างทางก็จะมีจุดพักกลางทางพร้อมร้านน้ำชา (Taktsang Cafeteria) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวที่มีความสวยงามของวัดทักซัง ไฮไลท์ของที่นี่คือถ้ำศักดิ์สิทธิ์ (Taktsang Senge Samdup) ที่เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระคุรุรินโปเชได้มานั่งปฏิบัติธรรม รวมไปถึงจุดถ่ายภาพยอดนิยมอย่างระเบียงวัดที่เป็นมุมถ่ายภาพอันโด่งดัง เมื่อขึ้นมาถึงบริเวณวัดจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์และความสงบ ที่บอกเลยว่าเหมือนกับได้ตัดขาดจากโลกภายนอกกันเลยทีเดียวค่ะ ซึ่งด้านบนสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของหุบเขาพาโรและป่าอันอุดมสมบูรณ์กันได้แบบพาโนรามา โดยชาวภูฏานเชื่อกันว่าการมาแสวงบุญที่วัดทับซังนั้นจะนำมาซึ่งบุญกุศล และการชำระจิตวิญญาณ 

เกร็ดความรู้

เวลาทำการ เปิด-ปิด: เปิดให้บริการทุกวันรวมวันหยุดราชการ 
เม.ย.–ก.ย.: 08:00–13:00 น. และ 14:00–18:00 น.
ต.ค.–มี.ค.: 08:00–13:00 น. และ 14:00–17:00 น.

พิกัด

วัดคิชู (Kyichu Lhakhang)

วัดคิชู (Kyichu Lhakhang)
        เป็นอีกหนึ่งสถานที่ทัวร์ภูฏานที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยือนเมืองพาโรค่ะ วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตลัมกง (Lamgong Gewog) ทางเหนือของเมืองพาโร อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 นาทีโดยรถยนต์ วัดคิชูถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 659 โดยพระเจ้าซองเซน กัมโป (Songtsen Gampo) กษัตริย์แห่งทิเบตในศตวรรษที่ 7 โดยเป็นหนึ่งใน 108 วัดที่ได้ถูกสร้างขึ้นในเทือกเขาหิมาลัย เพื่อปราบอสูรที่ขัดขวางการเผยแผ่ศาสนาพุทธในภูมิภาคหิมาลัย และเป็นหนึ่งในวัดที่เก่าแก่ที่สุดในภูฏาน และยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายวัด 12 แห่งที่ตั้งอยู่รอบ ๆ วัดโจคังในลาซาของจีน โดยในช่วงศตวรรษที่ 8 พระปัทมสัมภวะ (Padmasambhava) หรือที่รู้จักกันในชื่อคุรุรินโปเช ได้เสด็จมาเยือนที่วัดแห่งนี้ และเชื่อกันว่าพระองค์ได้ซ่อนสมบัติทางจิตวิญญาณเอาไว้มากมายที่นี่ ซึ่งวัดแห่งนี้ก็ได้รับการบูรณะและขยายเพิ่มเติมอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งในปีค.ศ 1968 พระราชินีอาชิ เคซัง โชเดน วังชุก (Kesang Choden Wangchuck) ก็ได้สร้างวัดกูรู (Guru Lhakhang) เพิ่มขึ้นมาถัดจากวัดคิชู ไฮไลท์ของที่นี่คือพระพุทธรูปโจโว จัมปา (Jowo Jampa) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์จากศตวรรษที่ 7 ภาพจิตรกรรมพระเจ้าเกซาร์แห่งหลิง (King Gesar of Ling) นักรบในตำนานของทิเบต ต้นส้มศักดิ์สิทธิ์สองต้นที่เชื่อกันว่าออกผลตลอดปี วัดกูรู (Guru Lhakhang) อันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปกูรู รินโปเช สูง 5 เมตร และรูปปั้นของเทพีคุรุกุลลา (Kurukulla) และ Dilgo Khyentse Rinpoche Memorial House พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงสิ่งของส่วนตัวและผลงานของพระอาจารย์ดิลโก เคียนเซ รินโปเช  


เกร็ดความรู้

เวลาทำการ เปิด-ปิด: เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 09:00 - 12:00 น. และ 13:00 - 17:00 น.

พิกัด

วัดดุงเซ (Dungtse Lhakhang) หรือ ดุงเซฮาคัง

วัดดุงเซ (Dungtse Lhakhang) หรือ ดุงเซฮาคัง
วัดดุงเซ (Dungtse Lhakhang) หรือที่รู้จักในชื่อ จังซา ดุมเซก ลาคัง (Jangtsa Dumtseg Lhakhang) เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางในการทัวร์ภูฏานกันที่เมืองพาโร ที่สำคัญคืออยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองพาโร สามารถเดินเท้ามาได้โดยใช้เวลาประมาณเพียง 10 นาทีเท่านั้น วัดเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งมีความสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และศิลปะทางพุทธศาสนา ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1421 โดยพระลามะทังตง เกียลโป (Thangtong Gyalpo) หรือที่รู้จักกันในนามผู้สร้างสะพานเหล็ก เนื่องจากท่านมีชื่อเสียงในการสร้างสะพานโซ่เหล็กทั่วภูฏานและทิเบตนั่นเอง ตามตำนานเล่าว่าวัดดุงเซถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปราบปีศาจที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยในพื้นที่ จึงทำให้ตัววัดถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของสถูป (เจดีย์) แบบโชเตน (Chorten) ซึ่งเป็นรูปแบบที่หายากในภูฏาน เพื่อกดทับพลังงานลบและปกป้องชุมชนนั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นวัดที่มีเรื่องราวเล่าขานอันน่าสนใจเกี่ยวกับการปราบปีศาจและการปกป้องชุมชน สะท้อนให้เห็นความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวภูฏานได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าไฮไลท์ของวัดแห่งนี้ก็คือสถาปัตยกรรมที่มีความแปลกตา ด้วยรูปแบบเจดีย์สามชั้นซึ่งแต่ละชั้นสื่อให้เห็นถึงภพภูมิที่แตกต่างกัน ชั้นล่างเป็นนรก ชั้นกลางเป็นโลกมนุษย์ และชั้นบนเป็นสวรรค์ หอคอยกลางที่ถูกล่ามโซ่ซึ่งเชื่อกันว่าในระหว่างการประกอบพิธีเจิม หอคอยกลาง (utse) ของวัดพยายามที่จะบินไปยังทิเบต จึงต้องถูกล่ามโซ่ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เคลื่อนย้ายออกไป นอกจากนี้ภายในวัดยังประดับประดาไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงเรื่องราวจากตำนานทางพุทธศาสนา และภาพวาดปรัชญาพุทธนิกายตันตระที่มีความวิจิตรงดงาม 

เกร็ดความรู้

เวลาทำการ เปิด-ปิด: เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 09:00 น. - 17:00 น.

พิกัด

เมืองพาโรถือได้ว่าเป็นประตูสู่การเริ่มต้นทัวร์ภูฏาน ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ทางวัฒนธรรมและธรรมชาติอันงดงาม การมาเที่ยวภูฏานที่เมืองนี้ทำให้เราได้สัมผัสกับประวัติศาสตร์อันยาวนาน ผ่านวัดวาอารามเก่าแก่และป้อมปราการอันศักดิ์สิทธิ์อย่างพาโรซอง (Paro Dzong) เพลิดเพลินไปกับการเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมที่วิจิตรบรรจง และดื่มด่ำกับทัศนียภาพของหุบเขาเขียวขจีที่ล้อมรอบเมือง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสเราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวภูฏานแท้ ๆ แบบดั้งเดิม และสัมผัสกับความสงบทางจิตใจไปจนถึงจิตวิญญาณ ราวกับได้ตัดขาดกับโลกอันแสนวุ่นวายภายนอก  พาโรจึงเป็นจุดหมายปลายทางการทัวร์ภูฏานที่ไม่ควรพลาดสำหรับผู้ที่ต้องการประสบการณ์การเดินทางที่ลึกซึ้งและน่าประทับใจ ในดินแดนที่เต็มไปด้วยความสุขสงบแห่งนี้